วันอาทิตย์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2551

:: อัจฉราพรรณ ไพบูลย์สุวรรณ "...กับชีวิต (มีความสุข) ที่เลือกได้"



สุดสัปดาห์วันอาทิตย์เดือนละครั้ง "ป้าจิ๊" อัจฉราพรรณ ไพบูลย์สุวรรณ ต้องมาฝึกปฏิบัติธรรมะกับ พระอาจารย์ธวัชชัย ธัมมทีโป ที่บ้านดวงประทีปแห่งธรรม อ.ดอนตูม จ.นครปฐม



หลังลุยงานหนักเป็นเวิร์คกิ้งวูเมน ทั้งนักแสดง พิธีกร และครูสอนโยคะ การหยุดพัก "ขอเวลานอก" จากภาระงานประจำวันเพื่อเรียนรู้วิถีพุทธเรื่องการดูแลรักษาจิตใจให้มีความสุขนั้นเติมพลังได้เอมอิ่ม เปรียบกับการชาร์จแบตเตอรี่ไว้เต็มๆ สู้งานหนักในวันต่อไปได้เยี่ยมยอด
"มาตั้งแต่คืนวันเสาร์ นอนค้างที่นี่แหละ เช้าวันอาทิตย์ก็ได้ปฏิบัติธรรมทันที" ป้าจิ๊คนดังว่าใบหน้าเปื้อนยิ้ม พร้อมผิวใสปิ๊ง! ผมหน้าม้าของป้ายังมันขลับ!!


ใครมาถึงที่นี่ก็จะได้สัมผัสบรรยากาศรื่นรมย์ของแมกไม้รอบๆ บ้านดวงประทีปแห่งธรรม ที่ 'ป้าจิ๊' กับเพื่อนฝูงลงขันร่วมแรงร่วมใจกันสร้างเป็นสถานปฏิบัติธรรมเล็กๆ ขึ้นในแถบชานเมือง จ.นครปฐม ซึ่งที่นี่ก็จะเป็นศูนย์รวมพลพรรควันสุดสัปดาห์ สมาชิกร่วมก๊วนก็จะยกมากันทั้งครอบครัว ตั้งแต่พ่อแม่ ลูกๆ วัยรุ่น ยันลูกเด็กเล็กแดง อย่างเช่นวันอาทิตย์นี้คึกคักเป็นพิเศษ

เป็นภาพที่สำทับประโยคของป้าจิ๊ที่ว่า "ธรรมะเข้าใจง่ายยิ่งกว่าอ่านหนังสือ ใครๆ ก็ปฏิบัติได้ ธรรมะเป็นของคนทุกเพศทุกวัย ไม่ใช่ว่าแก่แล้ว ทุกข์มากแล้ว ถึงจะมาฝึกกัน"
ส่วนการฝึกสมาธิจิต ป้าจิ๊แนะว่าการเริ่มต้นเราควรพุ่งไปที่ 'จิต' ทันที แล้วทำความรู้สึกอยู่กับจิตของเรา จิตอยู่ในตัวเราอยู่แล้ว ฐานของจิตอยู่ที่กลางหน้าอกบริเวณลิ้นปี่ แล้วก็ประคองอยู่กับจิต ไม่ ส่ง แส่ ส่าย ออกไปข้างนอก


"เราก็เห็นว่าความคิดความกังวลทั้งหลายอยู่แค่นี้นี่เอง คนเราสุขเกินไปทุกข์เกินไปสาเหตุอะไร ก็เพราะเมื่อมีความทุกข์อะไรเกิดขึ้นกับเราสักนิด เราก็จดจ่อ ขยายความ ทั้งที่ความเป็นจริงก็คือเรื่องเกิดแค่ตรงนั้น แต่กลับไปทุกข์มากกว่าเหตุที่มันเกิด อ๋อ...คนนั้นเขาพูดอย่างนั้น เขาต้องคิดอย่างนี้แน่เลย...ก็เลยดูใหญ่โต ทั้งที่สิ่งต่างๆ เมื่อกระทบกับจิตแล้ว ก็จะเกิด ดับ แล้วก็จบ ไม่ว่าทั้งความทุกข์ความสุขใดๆ ก็ตาม" ป้าจิ๊ อธิบาย
แรกๆ ใครลองฝึก ก็อาจหา 'จิต' ไม่พบ ป้าจิ๊บอกว่า ก็ไม่ต้องกังวลหามัน ไม่มีก็คือไม่มี ว่างก็คือให้รู้ว่าว่าง แล้วการอยู่กับภาระงานประจำวันอย่างปุถุชนคนธรรมดา ก็ใช่ว่าต้อง 'ฝึกจิต' กัน 24 ชั่วโมง ลืมแล้วลืมไป ไม่ต้องไปกังวล

"แต่ต้องลองฝึกปฏิบัติจริงเลยทันทีนะคะ แล้วเมื่อเราประคองจน 'จิตนิ่ง' เราก็จะเห็นตัวเราอย่างชัดเจนเลยว่า บางครั้งเราก็เอาตัวไปขลุกอยู่กับอารมณ์โกรธมาก มีความสุขมาก นั่นก็คือ 'จิตไม่นิ่ง' มันแกว่งไปตามสถานการณ์ ใครที่ฝึกจนได้เห็นว่า อ๋อ...สุขมากเป็นอย่างนี้ หรือทุกข์ปางตายเป็นแบบนี้นี่เอง แล้วมันก็ไม่ได้อยู่กับเราตลอดเวลา สุขก็ไม่จีรังยั่งยืน ทุกข์ก็ไม่จีรังยั่งยืน คิดได้แบบนี้เราก็จะยืนอยู่ในทางสายกลางได้ไม่ยากเลยค่ะ ซึ่งนี่คือ 'เรื่องจริง' ที่พระพุทธองค์ค้นพบไม่ใช่เรื่องปาฏิหาริย์มหัศจรรย์ใดๆ ทั้งสิ้น" ป้าจิ๊ บอกด้วยรอยยิ้มมีความสุขอีกครั้ง

ภาพวันพักผ่อนแสนจะเรียบง่าย ติดดิน ใบหน้าไร้เครื่องสำอาง เป็นภาพแตกต่างกันสุดขั้วกับวันทำงาน แต่ป้าจิ๊ของเราก็ขอคอนเฟิร์มว่าบุคลิกตัวตนของเธอนั้น เป็นคนเรียบง่าย ไม่หวือหวามาแต่ไหนแต่ไรแล้ว
"ไม่เคยคิดนะว่าจะได้เข้าวงการบันเทิง แต่เมื่อได้เรียนคณะอักษรศาสตร์ ได้เป็นลูกศิษย์ อ.สดใส พันธุมโกมล ก็กลายเป็นโอกาสได้บท 'อีเอี้ยง' ในละครเรื่องแรก จากวันนั้นถึงวันนี้ก็มีงานทำตลอด ทั้งเป็นครูสอนโยคะ ทั้งอัดละคร แล้วทุกวันศุกร์ก็ต้องอัดรายการ 'วันเดอร์ฟูล ไลฟ์ (ชีวิตที่เลือกได้)' ดิฉันชอบรายการนี้มาก เพราะได้เรียนรู้ชีวิตผู้คน" ป้าจิ๊ ว่า

รายการวันเดอร์ฟูล ไลฟ์ ป้าจิ๊ได้พบกับ "เจี๊ยบ" หญิงสาวที่เป็นข่าวปีที่แล้ว เรื่องถูกรถเมล์ทับจนเป็นอัมพาตครึ่งท่อน การทำงานในวันนี้เมื่อได้เห็นชีวิตลำบากของคนอื่น จึงถือเป็น "ครู" ของการดำรงชีวิตในวันข้างหน้า

"พอสอนโยคะก็จะบอกลูกศิษย์ว่า บางคนเขาอยากจะยกแขนยกขา เขายังไม่มีโอกาสนะ คนมีความทุกข์มากๆ อย่างเจี๊ยบที่ร่างกายแตกหักพังสลาย เขาก็ยังมีความสุขได้ มีแง่คิดชีวิตดีๆ ดิฉันทึ่งมากที่เจี๊ยบไปเยี่ยมคนขับรถที่ติดคุก อโหสิกรรมให้เขาบอกไม่ต้องกังวลนะ แล้วยังขอบคุณพี่คนขับรถเมล์อีกว่า ดีที่ไปทับท่อนล่างไม่ทับท่อนบนตรงหัวใจ ไม่อย่างนั้นก็ตายไปแล้ว ดิฉันคิดว่าที่เธอทำอย่างนี้ได้ เพราะสามารถตัดขาดจากความทุกข์นั้นได้แล้ว แต่พวกเราซึ่งมีครบทั้งร่างกาย สติปัญญา กลับหาเรื่องทุกข์กันไม่หยุดหย่อนเลยนะ" ป้าจิ๊ ว่าแล้วก็หัวเราะเบาๆ ตบท้าย

การเป็นคนดี ไม่ทำเรื่องเดือดร้อนให้ใคร ไม่ทำเรื่องเดือดร้อนให้ตัวเอง แค่ปฏิบัติศีลห้าแค่นี้ ธรรมะก็จะเป็นเรื่องง่ายๆ ของทุกคน แล้ว...นี่แหละ! วันเดอร์ฟูล ไลฟ์ ชีวิตที่ (เรา) เลือกได้ ป้าจิ๊ฝากไว้อย่างนั้น

ที่มา:: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก ฉบับวันที่ 19 กรกฎาคม 2550

::คุณธรรมนำความรู้ อีกเป้าหมายหลักของ"สวชช."

ทุกวันนี้ข่าวอาชญากรรมบนหน้าหนังสือพิมพ์ ทำให้รู้สึกหดหู่ใจไม่ใช่น้อย ยิ่งเป็นข่าวที่อาชญากรยังเป็นแค่วัยเยาวชน ก็ยิ่งทำให้สะเทือนใจด้วยเหตุนี้ทางกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จึงได้เร่งผลักดันนโยบายด้านคุณธรรม จริยธรรม โดยนายวิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ได้กล่าวถึงทิศทางไว้ว่า "นโยบายการจัดการศึกษากำหนดไว้ชัดว่าคุณธรรมนำความรู้ แทนความรู้คู่คุณธรรม ซึ่งจะต้องเชื่อมโยงความร่วมมือของ 3 สถาบัน คือ ครอบครัว สถานศึกษา และศาสนา รวมเรียกว่า บวร หมายถึง บ้าน วัด โรงเรียน ซึ่งจะต้องเร่งทำอย่างเร่งด่วน เพราะสังคมอาจถึงขั้นล่มสลาย"


ดังนั้น จึงได้มอบหมายให้แต่ละหน่วยงานและสถาบันการศึกษานำไปเป็นแผนแม่บทของการจัดการศึกษา ซึ่งรวมถึงสำนักบริหารงานวิทยาลัยชุมชน (สวชช.) ต้นสังกัดของ "วิทยาลัยชุมชน" "ตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการที่ประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะปรับการเรียนเปลี่ยนการสอน ให้มุ่งเน้นคุณธรรม จริยธรรมนั้น ถือว่าสอดรับกับนโยบายของ สวชช. และวิทยาลัยชุมชน (วชช.) ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนี่อง


โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีนี้เป็นปีแห่งการเฉลิมฉลองเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี สวชช.จึงได้จัดโครงการพัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ โดยจัดกิจกรรมพัฒนาจิตให้กับนักศึกษา ครูอาจารย์ บุคลากรของสวชช. ตลอดจนประชาชนในพื้นที่วิทยาลัยชุมชนทั่วประเทศ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติบ้านวังเมือง จังหวัดพังงา"

น.ส.สุนันทา แสงทอง ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานวิทยาลัยชุมชน กล่าวถึงแนวทางการดำเนินงานตามนโยบายคุณธรรมนำความรู้ ตามโครงการนี้มีการวางเป้าหมายเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มนักศึกษา ให้สามารถฝึกจิตจนทำให้มีสติ มีปัญญา รู้จักการหยั่งคิด รู้ว่าอะไรดี อะไรไม่ดี รู้จักเตือนตัวเองไม่ทำสิ่งที่ไม่เหมาะสม ตลอดจนรู้จักแก้ปัญหาด้วยตัวเอง


ส่วนกลุ่มครูอาจารย์ตั้งเป้าว่าเมื่อฝึกจิตแล้วจะทำให้มีความถึงพร้อมที่จะถ่ายทอดความรู้ให้กับนักศึกษา และหากเป็นกลุ่มประชาชนทั่วไปก็ให้สามารถนำสิ่งที่ได้ฝึกฝนไปเผยแพร่ต่อผู้อื่น ทำให้ผู้คนในสังคมมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตามลำดับนอกจากนี้ การดำเนินตามนโยบายคุณธรรมนำความรู้ของ สวชช. ยังได้สอดแทรกสาระความรู้เรื่องศาสนา คุณธรรม จริยธรรมไว้ในเนื้อหาวิชาที่ทำการสอนแทบทุกสาขาวิชาในวิทยาลัยชุมชน เฉพาะอย่างยิ่งสอดแทรกเรื่องของหลักการครองตน ครองคน และครองงาน ซึ่งเชื่อมคุณธรรมกับการดำเนินชีวิตเป็นเส้นทางเดียวกัน

ที่มา:หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2550

:: สถานพินิจฯอยุธยา


หงายมือวางไว้บนหน้าตัก สูดลมหายใจยาวๆ ผ่อนคลายความรู้สึก เพ่งความรู้สึกมาที่กลางหน้าอก บริเวณลิ้นปี่ ค่อย ๆ เอามือมาแตะกลางอก ให้สังเกตความรู้สึกคล้ายหัวใจเต้น คล้ายชีพจรเต้นวึบ วึบ วึบ บางคนรู้สึกเบา ๆ บางคนรู้สึกแรง ๆ นี่คือฐานของจิต ให้รู้สึกไปเรื่อย ๆ จิตดวงนี้ก็จะมีที่พึ่งที่เกาะอยู่ภายใน จิตภายในก็จะสงบ ลงภวังค์ เมื่อจิตตั้งมั่นปัญญาก็จะเกิด จะพิจารณาเห็นว่าสรรพสิ่งทั้งหลายทั้งปวงในโลกล้วนเกิดขึ้นดับไป ไม่สามารถเอาอะไรไปได้ เรายึดมั่นเพราะสิ่งใด เราก็ทุกข์เพราะสิ่งนั้น







เสียงคำสอนของ พระอาจารย์ธวัชชัย ธมฺมทีโป จากศูนย์รวมจิตใจ บ้านดวงประทีปแห่งธรรม อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม สะกดให้เยาวชนชายหญิงกว่า 80 คนในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นั่งสงบนิ่งอยู่กับการฝึกปฏิบัติตามแนวมหาสติปัฎฐาน 4 อริยมรรคมีองค์ 8
ภาพเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการฝึกปฏิบัติในโครงการพัฒนาจิตตามแนวมหาสติปัฎฐาน 4 ที่ทางสถานพินิจจังหวัด พระนครศรีอยุธยา ร่วมมือกับศูนย์รวมจิตใจ บ้านดวงประทีปแห่งธรรมจัดขึ้น เพื่อเป็นการนำธรรมะเข้ามาช่วยกล่อมเกลาจิตใจให้แก่เด็กและเยาวชนที่อยู่ในความดูแลของสถานพินิจฯ ซึ่งในวันหนึ่ง จะต้องกลับไปสู่อ้อมอกของครอบครัวเช่นเดิม



น.ส.สุวัจนา ปัจจุสา นนท์ หรือ ครูติ๋ม นักจิตวิทยาของสถานพินิจฯ เล่าว่า โครงการพัฒนา จิตฯ เกิดขึ้นจากนโย บายของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ที่ต้องการให้ชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการฟื้นฟูเด็กและเยาวชน ทางสถาน พินิจฯ จึงได้หารือร่วมกับผู้นำชุมชนในพื้นที่ และเห็นว่าควรส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนได้มีโอกาสพัฒนาจิต เพราะเด็กและเยาวชนที่ต้องเข้ามาอยู่ในสถานพินิจฯ ส่วนใหญ่จะเครียด คิดถึงบ้าน รู้สึกวิตกกังวล หงุดหงิด ทำให้เกิดเหตุทะเลาะวิวาทกันได้ง่าย







“โครงการนี้เริ่มตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม ถึง 10 กรกฎาคม 2550 โดยเด็กและเยาวชนในสถานพินิจฯ จะหมุนเวียนกันเข้ามาฝึกปฏิบัติกับพระอาจารย์ธวัชชัย ทุกวันอังคาร ประมาณ 9 โมงเช้าถึงเที่ยง และเป็นที่น่าประหลาดใจเพราะเด็ก ๆจะให้ความสนใจกันมาก ทุกคนจะตั้งใจฟัง ตั้งใจฝึกปฏิบัติ สังเกตได้จากในระหว่างการอบรมจะไม่มีเสียงพูดคุยกันเลย ในขณะที่การอบรมเรื่องอื่น ๆ ที่สถานพินิจฯ เคยจัด เด็ก ๆ จะคุยกันวุ่นวาย ไม่ค่อยสนใจ ซึ่งหลังการฝึกผ่านไปไม่กี่สัปดาห์ก็พบว่า เด็กส่วนใหญ่รู้สึกดี สงบ ความเครียดลดลง มีสมาธิมากขึ้น และที่สำคัญพฤติกรรมดีขึ้นมากอย่างเห็นได้ชัด” ครูติ๋ม กล่าวด้วยความปลาบปลื้มใจ



พระอาจารย์ธวัชชัย ธมฺมทีโป กล่าวว่า เด็กที่อยู่ในสถานพินิจฯ จะมีความเครียดกังวล เศร้าโศก เสียใจ ท้อแท้ ผิดหวัง แม้บางคนจะสำนึกได้กับสิ่งที่เคยทำลงไป แต่ภายในจิตใจก็ยังสับสน เพราะไม่มีที่พึ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ดังนั้นการฝึกจิตจะช่วยทำให้รู้สึกสงบ และจะเกิดปัญญารู้ว่าควรดำเนินชีวิตต่อไปอย่างไร ซึ่งความจริงแล้วการฝึกดูจิต สามารถทำได้ทุกเพศทุกวัย เด็กเล็ก ผู้ใหญ่ วัยรุ่น คนแก่ หรือคนป่วยก็ฝึกดูจิตได้ทั้งนั้น และทำได้ทุกอิริยาบถ ตลอดวันตลอดคืน ซึ่งจิตที่ฝึกดีแล้วย่อมนำมาซึ่งความสุข และสุขอื่นใดเสมอด้วยความสงบไม่มี อีกทั้งเมื่อฝึกจิต กุศลก็เกิด เวลาแผ่เมตตาก็จะมีกระแสจากภายในส่งออกไปภายนอก ซึ่งกระแสเหล่านี้สามารถส่งถึงกันได้



“อาตมาอยากให้ผู้ใหญ่ได้ฝึกด้วยเพื่อเป็นที่พึ่งให้แก่เด็ก ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูอาจารย์ ผู้บริหารในโรงเรียน แม้แต่ผู้คุมในสถานพินิจฯ เพราะผู้ใหญ่ที่ทำงานกับเด็กต้องมีความเมตตา ซึ่งเด็ก ๆ จะรับกระแสของความเมตตาเหล่านี้ได้” พระอาจารย์ธวัชชัย กล่าว




น.ส.น้อย (นามสมมุติ) ซึ่งอยู่ในความดูแลของสถานพินิจฯ ระหว่างการพิจารณาคดีอาญา เล่าว่า ตนเข้ามาอยู่ในสถานพินิจฯ ได้ประมาณ 3 เดือนแล้ว ซึ่งในช่วงแรกจะรู้สึกเครียดมาก มีความกดดันจนอยากตาย ได้แต่ร้องไห้และไม่อยากคุยกับใคร เมื่อมีโครงการพัฒนาจิต ตนจึงสมัครใจมาอบรมเอง ทั้งที่ไม่ค่อยเชื่อว่าจะช่วยอะไรได้ แต่เมื่อได้ฝึกปฏิบัติจิตด้วยตนเองแล้ว กลับพบว่าช่วยให้จิตใจสงบ มีสมาธิมากขึ้น ดังนั้นตนจะฝึกต่อไปเรื่อยๆ แม้จะออกจากสถานพินิจฯ ไปแล้ว



“เมื่อต้องมาอยู่ในสถานพินิจฯ หนูโกรธทุกคน โกรธแม้แต่ทนายของฝ่ายผู้เสียหาย แต่เมื่อได้ฝึกปฏิบัติ ช่วยให้หนูมีสติทบทวนเรื่องราวต่าง ๆ และเข้าใจแล้วว่า ผลที่ได้รับอยู่ทุกวันนี้ ไม่ได้มีใครทำ แต่มาจากการกระทำของเราเอง ทำให้ยอมรับสภาพได้ และยังรู้สึกสำนึกผิดว่าเราก็มีส่วนด้วย ซึ่งหากได้กลับบ้าน หนูจะทำดีกับแม่ จะไม่เถียงแม่ และจะตั้งใจเรียน และที่สำคัญหนูอยากฝากถึงเพื่อน ๆ วัยรุ่นว่า การคบเพื่อนมีความสำคัญมาก สังคมของคนที่เรียนหนังสือกับคนที่ไม่เรียนหนังสือจะต่างกัน อย่าคิดแต่สนุกสนาน แต่ควรคิดถึงอนาคตไกล ๆ ด้วย” น้อย เผยความในใจ






ความจริงแล้วคนที่กระทำผิดกฎหมาย จะด้วยเจตนาหรือความประมาทพลาดพลั้ง หรือเคยมีประสบการณ์ผ่านการถูกคุมขัง โดยเฉพาะเยาวชนที่เคยผ่านสถานพินิจฯ มาแล้ว ไม่ได้หมายความว่าเยาวชนเหล่านั้นจะปรับปรุงแก้ไขชีวิตใหม่ให้ดีขึ้น หรือกลับมาเป็นคนดีของสังคมอีกไม่ได้ แต่เมื่อถึงวันที่จะได้กลับออกไปสู่สังคม ต้องยอมรับว่าช่วงแรก เป็นเวลาของการปรับตัวและต้องรับแรงกดดันอย่างหนักจากสังคมรอบตัว ซึ่งทุกคนต้องผ่านช่วงนั้นไปให้ได้


ดังนั้นธรรมะจะเข้ามามีบทบาทช่วยเหลือได้อย่างมากในช่วงนี้อย่างไรก็ตามการฝึกปฏิบัติธรรมคงไม่ได้จำกัดเฉพาะคนที่มีปัญหาเท่านั้น แต่ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัยก็สามารถฝึกปฏิบัติได้เช่นกัน เพราะการฝึกดูจิตก็คือ การดูแลรักษาจิตใจให้มีความสุขนั่นเอง ซึ่ง พระอาจารย์ธวัชชัย จะสอนการฝึกปฏิบัติตามแนวมหาสติปัฎฐาน 4 ทุกวันศุกร์เวลา 12.00 น. ที่ห้องประชุมชั้น 3 อาคารรัชมังคลาภิเษก ภายในกระทรวงศึกษาธิการ ใครสนใจก็สามารถเข้าร่วมได้ หรือสอบถามเพิ่มเติม คุณบุญศรี ดาราราช ผู้อำนวยการศูนย์รวมจิตใจ บ้านดวงประทีปแห่งธรรม โทร. 08-9144-1092 และ อ.วิมล มาเทียน หัวหน้างานสายด่วนการศึกษา 1579 โทร. 08-9481-5587.





จาก: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 18 ก.ค.2550